เตรียมฉีดวัคซีนเด็กเล็ก 5-11 ปี
ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ชี้ ‘เด็กเล็ก’ ควรฉีดวัคซีนโควิด ลดความรุนแรงและเสียชีวิต ลดภาวะ ‘มิตซี’ (อาการอักเสบทั่วร่างกาย) เปิดข้อมูลวัคซีนเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี อาการข้างเคียงน้อยกว่าเด็กโต กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบพบ 11 คนใน 9 ล้านคน
ผอ.รพ.เด็ก อธิบายขั้นตอนการฉีดวัคซีนเด็กเล็ก 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว ทั้งก่อนฉีดและหลังฉีดวันที่ 26 ม.ค. 2565 ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี แถลงข่าวการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กเล็กอายุ 5-11 ปี โดย ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวว่า เด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 มักไม่มีอาการหรืออาการน้อยถึง 98% การเสียชีวิตก็น้อย แต่มีความจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด 19 เพื่อป้องกันด้วย โดยเฉพาะเด็กมีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ รวมทั้งจะได้ไม่แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว
นอกจากนี้ ช่วงประมาณ 1 เดือนที่ผ่านมา พบภาวะอักเสบทั่วร่างกายหรือ ‘มิตซี’ ในเด็กที่ติดเชื้อโควิดเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นการไม่ติดเชื้อจะเป็นการดีกว่า
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า วัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ อย.รับรองแล้วคือของไฟเซอร์ ใช้ขนาด 10 ไมโครกรัม ทำมาสำหรับเด็กโดยเฉพาะ จึงไม่ควรเอาสูตรของผู้ใหญ่มาแบ่งฉีด ถึงได้มีทำฝาขวดสีต่างกัน เพื่อป้องกันความสับสนส่วนผลข้างเคียงหลังการฉีด ข้อมูลของสหรัฐอเมริกาที่มีการฉีดให้เด็กอายุ 5-11 ปีไปแล้ว 9 ล้านคน พบว่าไม่มีปัญหาอะไร อาจมีอาการปวดบวมแดงบริเวณแขนที่ฉีด แต่พบอาการไข้น้อยกว่าเด็กโตหรือผู้ใหญ่ อาการต่างๆ ส่วนใหญ่ไม่เกิน 2 วันก็หายหมด จึงค่อนข้างปลอดภัย
ส่วนอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ พบประมาณ 11 คน ใน 9 ล้านคน แต่ตรวจแล้วอาการเล็กน้อย รักษาหายทั้งหมด ไม่มีอาการรุนแรงแม้แต่คนเดียว
ประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ กล่าวว่า ระยะห่างในการฉีดระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ที่สหรัฐฯ ฉีดห่าง 3 สัปดาห์ ขณะที่อังกฤษและออสเตรเลียพยายามฉีดห่าง 8 สัปดาห์ เนื่องจากภูมิคุ้มกันสูงขึ้น และผลข้างเคียงน้อยลง อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบก็น้อยลงไปอีกแทบไม่มีเลย
“เด็กเรา ต้องเลือกที่ปลอดภัยที่สุด เราจึงฉีดห่างไว้ก่อน 8 สัปดาห์ ภูมิขึ้นดี ผลข้างเคียงน้อยลง ดังนั้น การฉีดในโรงเรียนจึงแนะนำที่ 8 สัปดาห์ แต่เด็กที่มีโรคเรื้อรัง และกลัวจะติด ก็เร่งฉีดได้ที่ประมาณ 4 สัปดาห์ ไม่ควรจะเร็วกว่านั้น เดิมที่อังกฤษจะฉีดที่ 12 สัปดาห์ด้วยซ้ำ แต่โอมิครอนระบาดจึงเลื่อนมาเป็น 8 สัปดาห์เพื่อให้เร็วขึ้น”
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึง ‘วัคซีนเชื้อตาย’ ซิโนแวคและซิโนฟาร์มที่จะฉีดในเด็ก แต่ อย.ยังไม่ได้รับรอง กำลังรอข้อมูลอยู่
ศ.นพ.สมศักดิ์ ย้ำว่า การฉีดในเด็ก เราเอาความปลอดภัยเป็นสำคัญ เราจะไม่ฉีดส่งเดช และถ้าไม่มีข้อมูลเราไม่อยากทำ ต้องเอาปลอดภัยสูงสุด
“ส่วนที่ว่าเด็กติดเชื้อแล้วไม่ตาย ที่เสียชีวิตก็มีโรคประจำตัว เลยถามว่าจำเป็นต้องฉีดหรือไม่ ก็ขอให้ดูจากโรคอีสุกอีใสที่เด็กเป็นแทบไม่มีอะไรเลย แต่ผู้ใหญ่เป็นอาการหนักมาก แล้วเราควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสให้เด็กหรือไม่ เพราะเด็กไม่เป็นอะไร จริงๆ เป็นกับไม่เป็น ก็เลือกไม่เป็นดีกว่า ถ้ามีภูมิแล้ว อย่างไรก็ไม่เสียชีวิต ปลอดภัยกว่าไปเสี่ยง และอีสุกอีใสโตขึ้นตอนแก่เป็นโรคงูสวัดตามมา ส่วนโควิดเป็น ‘มิตซี’ ตามมา การฉีดวัคซีนจะได้ไม่เกิด การฉีดจึงคุ้มกว่า บ้านเราคิดว่าถ้ามีวัคซีนก็อยากฉีดให้ทุกคน”
ศ.นพ.สมศักดิ์กล่าวด้วยวาา ตอนเรามีฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่ การติดเชื้อผู้ใหญ่ลดลง ติดในเด็กเยอะขึ้น แต่เมื่อฉีดในเด็กโต ก็พบว่าเด็กโตติดเชื้อลดลง แต่ช่วงสัปดาห์หลังเด็กโตเริ่มเยอะขึ้น แสดงว่าวัคซีนกันโอมิครอนได้ไม่ค่อยดีนัก แต่ไม่ต้องตกใจ ถึงติดอาการก็น้อยมาก ไม่ค่อยมีอาการ และปลอดภัย คิดว่าในเด็กอาจกันไม่ได้ 100% ไม่มีวัคซีนอะไรกัน 100% ตอนนี้ไม่กลัวติด แต่กลัวตาย ถ้าเป็นแล้วไม่ตาย อาการน้อย ไม่มีอาการก็ปลอดภัยกว่า จึงควรจะฉีดวัคซีน และไม่ต้องกลัวเรื่องของมะเร็งหรือเปลี่ยนพันธุกรรม เพราะเราไม่ได้ฉีด DNA เราฉีด RNA ซึ่งอยู่ได้ไม่นานก็สลายไปหมด สัปดาห์เดียวฉีดไปก็หาไม่เจอแล้ว และเหมือนที่ไวรัสสร้างอยู่แล้ว
ด้าน นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า เด็กเล็กอายุ 5-11 ปี มีประมาณ 5 ล้านคน จำนวนนี้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค มีประมาณ 9 แสนคน โดยแนวทางการฉีดวัคซีนโควิดในเด็กอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัว ยืนยันว่าเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือ กทม. จะบริหารวัคซีนตามความเหมาะสมของจำนวนผู้ป่วยอายุ 5-11 ปีที่มีโรคประจำตัวและผู้ปกครองยินยอม ตามจำนวนวัคซีนที่รับการจัดสรร และตามความพร้อมของบุคลากร รวมถึงกุมารแพทย์ที่ให้การดูแลแต่ละจังหวัด