4 ขั้นตอนการฉีดวัคซันโควิด19 กับเด็กที่มีโรคประจำตัว
- คัดกรอง โดยเด็กสามารถรับประทานยาโรคประจำตัวได้ตามปกติที่แนะนำ รับประทานอาหารและน้ำได้ตามปกติ กุมารแพทย์จะประเมินว่า เด็กที่มีโรคประจำตัวมีข้อควรระวังอะไรหรือไม่ ซึ่งหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ขณะป่วยมีไข้ ร่างกายอ่อนเพลีย ควรรักษาให้หายดีก่อน ชะลอหรือเลื่อนการฉีด จนกว่าจะเป็นปกติ หรือ สอง เด็กที่มีโรคประจำตัวอาการรุนแรงที่อาจอันตรายถึงเสียชีวิต อาการไม่คงที่ อาจชะลอไปก่อน ให้รักษาโรคประจำตัวให้ดีก่อน
- ลงทะเบียนยืนยันการฉีดอีกครั้ง โดยเซ็นใบยินยอมว่าทบทวนดีแล้ว
- การฉีดวัคซีน ซึ่งในผู้ใหญ่ให้จัดสถานที่โล่ง แต่ในเด็กเล็กหรืออนุบาล ซึ่งบางทีเมื่อเห็นเด็กคนไหนฉีดแล้วมีการร้อง อาจจะเกิดผลด้านจิตใจ เกิดอุปาทานหมู่ ยอมรับฉีดยากขึ้น ดังนั้น ขอให้จัดฉีดในสถานที่มิดชิด มีฉากกั้น ม่านกั้น หรือเป็นห้อง จะช่วยลดการกังวลของเด็ก
- หลังฉีดรอดูอาการ 30 นาที เมื่อกลับบ้านไปแล้ว 1 สัปดาห์ไม่ควรออกกำลังกาย ปีนป่าย ว่ายน้ำ ที่ต้องใช้แรง ขอให้ช่วยกันดูแลตรงนี้
นพ.อดิศัย กล่าวถึงข้อกังวลอาการข้างเคียงด้านหัวใจว่า ตามรายงานมีจริง แต่ทุกรายสามารถรักษากลับสู่ปกติได้หมด แต่เพื่อความไม่ประมาท ให้ผู้ปกครองเบาใจ จึงมีการจัดระบบเครือข่ายการส่งต่อดูแล โดยหากเด็กที่ฉีดวัคซีนแล้วเกิดอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้รีบพามา รพ.ใกล้บ้านทันทีเพื่อประเมินอาการ คือ
- กลุ่มโรคหัวใจในช่วง 2-7 วัน ได้แก่ เจ็บหน้าอก หายใจเร็ว เหนื่อยง่าย ใจสั่น ซึ่งตามสถิติมักพบในช่วงวันที่ 2 ของการฉีด แต่หากเกิดในวันแรกก็พามาได้เช่นกัน
- กลุ่มอาการอื่น ไข้สูงมากกว่า 39 องศาเซลเซียส ปวดหัวรุนแรง อาเจียนทานอะไรไมได้ เด็กซึมหรือไม่รู้สึกตัว
ถ้ามีอาการสงสัยใน 2 กลุ่มโรค ให้หา รพ.ใกล้บ้าน ซึ่งเรามีกุมารแพทย์กระจายทั่วประเทศ 2 พันกว่าราย ในทุกจังหวัด รพ.อำเภอหลายแห่งมีกุมารแพทย์ที่สามารถประเมินอาการได้ว่าสามารถรักษาตรงนั้น หรือต้องส่งต่อระดับโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลทั่วไป ซึ่งหากยังเกินศักยภาพก็สามารถส่งมายังสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย
นพ.อดิศัยกล่าวว่า การคิกออฟฉีดวัคซีนเด็กเล็กที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ วันที่ 31 ม.ค.นี้ จะเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว ซึ่งเรามีคนไข้ของเราเอง 4,000 คน เรามีแผนฉีดแล้ว โดยจะทยอยฉีด ไม่แออัดมาก ก่อนฉีดจะมีพยาบาลแต่ละหน่วยงานโทรไปหา ให้คำปรึกษา ข้อมูล และสอบถามความสมัครใจของผู้ปกครอง หลังฉีดมีคิวอาร์โคดประเมินผลข้างเคียง และช่องทางให้ความรู้เรื่องการดูแลหลังฉีดถ้ามีผลข้างเคียง และเนื่องจากเรามีผู้ป่วยเด็กจากหลายจังหวัด ก็สามารถเข้า รพ.ที่ใกล้บ้านก่อนได้ หรือถ้ามาโดยตรงที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ก็ยินดี โดยมีไลน์ และสายด่วน 1415 ให้ปรึกษา และมีฟาสต์แทร็กในรายที่สงสัยรุนแรงเพื่อเข้ารับการดูแลด้วย