อยากรู้,  อยากเล่า

กัมมันตรังสี ซีเซียม-137 รั่วไหล-ปนเปื้อน ไม่ได้เกิดขึ้นที่จังหวัดปราจีนบุรีเป็นครั้งแรก

แต่เคยมีเคสนี้เกิดขึ้นมาแล้ว ในปี 1987 ที่ประเทศบราซิล และครั้งนั้น ทำให้มีคนเจ็บป่วยหลายร้อย และมีคนตาย 4 ศพ เรื่องราวเป็นอย่างไร วันนี้เราจะมาย้อนอดีตข่าวสะเทือนโลกให้ฟังอีกครั้ง

  1. ที่เมืองโกยาเนีย ประเทศบราซิล โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งชื่อ IGR ที่มี เครื่องฉายรังสีที่ใช้ในการแพทย์ ได้ย้ายถิ่นฐานไปตั้งในบริเวณอื่น โดยอุปกรณ์ส่วนใหญ่ถูกย้ายตามไปหมดแล้ว แต่เครื่องฉายรังสี ยังไม่ได้ถูกขนย้ายตามไปด้วย เนื่องจากการขนย้ายตามปกติ มีความเสี่ยงที่จะทำให้รังสีรั่วไหลได้ทางใดทางหนึ่ง ระหว่างที่หาวิธีขนย้ายอย่างปลอดภัยนั้น สภาเมืองได้จ้างเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย มาเฝ้าโรงพยาบาลร้างเอาไว้ก่อน เพื่อไม่ให้ใครมาบุกรุกแล้วเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเครื่องฉายรังสีได้
  2. วันที่ 13 กันยายน 1987 เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับมอบหมาย ไม่ได้มาเข้ากะในวันนั้นพอดี ทำให้โจร 2 คน ชื่อ ซานโตส อัลเวส และ โมต้า เปเรยร่า แอบลักลอบไปที่โรงพยาบาลร้าง จากนั้นเมื่อเจอเครื่องฉายรังสี ก็ขโมยกลับมาที่บ้าน เพื่อทำการถอดแยกชิ้นส่วน โดยคาดหวังว่าจะเอาชิ้นส่วนเหล่านี้ไปขายต่อที่ร้านขายของเก่าเพื่อทำเงิน
  3. ในคืนเดียวกันกับที่ขโมยเครื่องฉายรังสีมา ซานโตน อัลเวส และ โมต้า เปเรยร่ามีอาการอาเจียน เพราะได้รับการปนเปื้อนจากสารกัมมันตรังสี ที่อยู่ในเครื่องมือการแพทย์โดยตรง แต่ตอนนั้นทั้งคู่ยังไม่เข้าใจ ว่าเกิดอาการเพราะอะไร จึงทำการแยกชิ้นส่วนต่อไปเรื่อยๆ โมต้า เปเรยร่า เริ่มวิงเวียนและท้องเสีย มือซ้ายของเขาเริ่มบวมโต จากนั้นมือก็เริ่มมีรอยแผลเหมือนโดนเผาไหม้ จนเปเรยร่าต้องไปโรงพยาบาล โดยเข้าใจว่าตัวเองอาจจะกินอะไรผิดสำแดงไป

    ขณะที่โจรอีกคน ซานโตส อัลเวส ยังทำงานแยกชิ้นสุดต่อไปเรื่อยๆ และในที่สุดเขาก็แยกชิ้นส่วนจุดที่อันตรายที่สุด นั่นคือแคปซูลที่บรรจุ “เซเซียม-137” เอาไว้ได้สำเร็จ เมื่อเปิดฝาครอบออกมา เขาพบผงบางอย่างที่มี “สีฟ้าอ่อน” อันสวยงาม สะท้อนออกมาจากด้านใน

    คำอธิบายคือ เซเซียม-137 อยู่ในรูปของเกลือเซเซียม คลอไรด์ ที่จะเรืองแสงและเห็นชัดในที่มืด ถ้าคนไม่รู้ว่าคืออะไร จะมองว่าเป็นสิ่งที่สวยงามแปลกตา ตัวอัลเวสเห็นดังนั้น ก็เข้าใจว่าน่าจะเป็นของที่มีค่ามากและควรขายได้ราคาแพง
  4. จากนั้นวันที่ 18 กันยายน 1987 อัลเวสจึงนำของทั้งหมดไปขายที่ร้านขายของเก่า เจ้าของร้านของเก่า ชื่อ เดแวร์ เฟเรยร่า เห็นแสงสีฟ้าอ่อนดังกล่าว ก็คิดว่าน่าจะเป็นวัตถุอะไรสักอย่างที่มีพลังเหนือธรรมชาติ และรู้สึกสนใจ เขาจึงตัดสินใจซื้อทันที พอซื้อเสร็จปั๊บ 3 วันต่อมา เขาเชิญเพื่อนๆ และครอบครัว มาดูความมหัศจรรย์ของผงสีฟ้าอ่อนสะท้อนแสงไปด้วยกัน

    ไม่นานนัก มาเรีย เฟเรยร่า ภรรยาของร้านขายของเก่า เริ่มล้มป่วย และคนรอบตัวเธอก็เริ่มล้มป่วยไปด้วย ทำให้วันที่ 28 กันยายน 1987 เธอเอาวัสดุนี้ส่งต่อไปให้โรงพยาบาลเฉพาะทาง ว่าเป็นวัสดุอะไรที่มีพิษอะไรหรือไม่ ซึ่งในวันรุ่งขึ้น โรงพยาบาลได้ยืนยันว่า มันคือ “เซเซียม-137” ที่มีความอันตรายมาก และกลายเป็นเรื่องใหญ่มาก ทางรัฐบาลรับรู้สถานการณ์นี้ แล้วต้องเข้ามาแก้ปัญหาเป็นการด่วน
  5. การสัมผัสกับเซเซียม-137 โดยไม่รู้ว่าเป็นอะไร ทำให้มีคนเสียชีวิต 4 ศพ ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ไปสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี โดยหนึ่งในนั้นคือเด็กผู้หญิงอายุแค่ 6 ขวบเท่านั้นด้วย ขณะที่หัวขโมย ซานโตส อัลเวส ต้องตัดแขนขวาทิ้ง ส่วนหัวขโมยอีกคนโมต้า เปเรยร่า ต้องตัดนิ้วทิ้ง

    ในเคสของ เด็กสาว 6 ขวบ ชื่อเนเวส เฟเรยร่า เป็นกรณีที่น่าสงสารมาก เพราะเธอเห็นผงสีฟ้าสะท้อนแสง ด้วยความไม่รู้ของเด็ก จงเอาผงดังกล่าวมาทาตัวเล่นและโชว์ให้คุณแม่ดูด้วยความสนุกสนาน สุดท้ายทำให้เธอได้รับกัมมันตรังสีมากที่สุดในโศกนาฏกรรมครั้งนี้คือ 6.0 เกรย์ ไม่สามารถกอบกู้ชีวิตได้ ตอนเธอเสียชีวิต ทางการต้องทำโลงศพจากไฟเบอร์กลาสสั่งทำพิเศษ เพื่อไม่ให้สารกัมมันตรังสีที่อยู่ในตัวเธอหลุดรอดออกมาภายนอกได้
  6. การแพร่กระจายของ เซเซียม-137 สร้างความโกลาหลให้ผู้คนในเมืองโกยาเนียอย่างมาก ประชาชนมากกว่า 110,000 คน มาที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจสอบว่า ตัวเองได้รับการปนเปื้อนกัมมันตรังสีหรือไม่ โดยบทสรุปคือ มีคนที่ได้รับสารปนเปื้อนจนเจ็บป่วย เป็นจำนวน 249 คน
  7. ปัญหาสำคัญ ที่รัฐบาลบราซิลกังวลใจมาก นั่นคือ “การแพร่กระจายของ เซเซียม-137” เพราะถ้าแคปซูลไปวางอยู่ที่ไหน พอมีคนสัมผัส ก็อาจทำให้สถานที่นั้นมีการปนเปื้อน ดังนั้นรัฐบาลบราซิล ต้องทำลายบ้านเรือนทิ้งทั้งหมด 7 หลัง ที่มีความเกี่ยวข้องกับเซเซียม-137 ทำลายยานพาหนะที่อาจได้รับการปนเปื้อนจำนวน 50 คัน ต้องใช้เวลาจัดการกับกากกัมมันตรังสีทั้งสิ้น 6 เดือน สถานการณ์ถึงจะเบาบางลง
  8. สำหรับบทลงโทษทางกฎหมายนั้น เจ้าของโรงพยาบาล IGR ถูกตั้งข้อหาที่ละเลยการดูแลวัตถุอันตรายของตัวเอง จนส่งผลเสียหายใหญ่โตขนาดนี้ จากนั้นในปี 2000 ศาลบราซิลสั่งให้รัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 1.3 ล้านเรียล รวมถึงต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับการรับสารปนเปื้อน รวมถึงการเข้ารับคำปรึกษาจากจิตแพทย์ ให้กับเหยื่อของเหตุการณ์นี้ ยาวไปจนถึง 3 เจเนเรชั่น
  9. นี่คือหายนะ เกี่ยวกับการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี เซเซียม-137 ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์บราซิล ประชาชนชาวโกยาเนียเต็มไปด้วยความหวาดผวา เพราะไม่รู้ว่า มีโอกาสไปสัมผัสคนที่ได้รับการปนเปื้อนมาหรือเปล่า แต่ในกรณีของบราซิลโชคยังดี ที่ไม่ได้มีการนำไปหลอมเผาไหม้ใดๆ จนกลายเป็นไอ ที่จะกระจายในอากาศ จนอาจจะสะสมในดิน หรือในน้ำ
  10. บทสรุปจากเรื่องนี้ที่บราซิลคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่มีสารกัมมันตรังสีอยู่ในบริษัท หรือ โรงงานของตัวเอง จะต้องระวังและละเอียดรอบคอบมาก ต้องมีระบบความปลอดภัยในระดับที่เหนียวแน่นที่สุด ไม่ปล่อยให้ใครก็ได้มาเข้าถึง จนสามารถขโมยสารกัมมันตรังสีไปได้โดยง่ายแบบนี้ เพราะถ้าหาก เซเซียม-137 หลุดออกไปได้ล่ะก็ ประชาชนในละแวกใกล้เคียง อาจได้รับอาการเจ็บป่วยโดยที่ไม่รู้ตัวเลย และไม่ใช่แค่แผลไหม้ หรืออาการอาเจียน แต่อาการในระยะยาวอย่างมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือ ไธรอยด์ก็อาจจะเกิดขึ้นง่ายกว่าเดิม
  11. สำหรับที่ประเทศไทย ยังต้องติดตามสถานการณ์ที่ อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี อย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะต้องเช็กว่า “จัดการได้” จริงๆ ใช่ไหม ไม่ได้ออกข่าวมาให้ผู้คนสบายใจ แต่ต้องบอกความจริงทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนสามารถรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง

สิ่งสำคัญในตอนนี้คือ ชาวบ้านที่ปราจีนบุรี ในบริเวณใกล้เคียงกับจุดที่โรงงาน และ โรงเหล็กตั้งอยู่ ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดที่สุด เพราะนี่คือเรื่องของชีวิตและความตาย ถ้าคอนโทรลไม่ได้ ชีวิตของชาวปราจีนบุรี ทั้งกับผู้ใหญ่ รวมถึงเด็กๆ อีกหลายๆ เจเนเรชั่นต่อจากนี้จะเจอฝันร้ายอย่างไม่ต้องสงสัยเลย

สำนักข่าวทูเดย์

https://facebook.com/story.php?story_fbid=pfbid02fzCsWB7QpeXWgpFSzaKq1sPCu2Jy6WvgnkGbftxtmBJKSrKLKFzAEoBaJPMw26YUl&id=153951094974177&mibextid=Nif5oz

Leave a Reply